วันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2554

กรณีตัวอย่างผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมาย “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ทั้งทางตรงและทางอ้อม

1.       บัณฑิต อานียา อายุ 69 ปี อาชีพนักเขียนอิสระ: ถูกพิพากษาจำคุก 2 ปี 8 เดือน
จากการที่บัณฑิตแจกเอกสารในงานสัมมนาแห่งหนึ่งเมื่อปี 2546 โดยเนื้อหาของเอกสารระบุถึงความเป็นกลางของศาลที่ไม่ควรนำรูปใดๆมาแขวนไว้ เป็นเหตุให้เขาถูกพลตำรวจเอกวาสนา เพิ่มลาภ วิทยากรในงานสัมมนาดังกล่าวฟ้องดำเนินคดีข้อหากระทำความผิดต่อองค์พระมหากษัติรย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ระหว่างถูกควบคุมตัวในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เขาถูกเจ้าหน้าที่ในเรือนจำด่าทอด้วยคำพูดหยาบคายและจะเข้าทำร้าย ทำให้เขาต้องก้มลงกราบเพื่อขออย่าให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นทำอะไรตน

ด้านกระบวนการยุติธรรม กระบวนการพิจาณาคดีในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เป็นไปโดยลับ มีเพียงจำเลย โจทก์ และพยานจากทั้งสองฝ่ายเท่านั้น (หนึ่งในพยานโจทก์ได้แก่ เลขาธิการของคณะองคมนตรี) ศาลอุทธรณ์ตัดสินจำคุก 2 ปี 8 เดือน ให้รอลงโทษเป็นเวลา 3 ปีเนื่องจากอายุมากและไม่เคยกระทำความผิดใด ขณะนี้เวลาผ่านไปแล้ว 2 ปี จำเลยอยู่ระหว่างรอศาลฏีกาเรียกไปฟังคำตัดสิน

ปัจจุบันบัณฑิตประสบปัญหาทางด้านร่างกายและจิตใจ ก่อนหน้านี้เขาป่วยเป็นมะเร็งที่กระเพาะปัสสาวะ แพทย์จึงทำการผ่าตัดเอามะเร็งออก และผ่าตัดไตออกอีกหนึ่งข้าง ทำให้ไม่สามารถถ่ายปัสสาวะได้ปกติ ขณะนี้อาการป่วยกำเริบมายังบริเวณอื่นในร่างกาย และมีความกังวลมากขึ้นต่ออาการป่วยของตนเองหากถูกศาลตัดสินจำคุก

2.       ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล อายุ 47 ปี ประชาชนที่ต่อต้านรัฐประหาร: ถูกพิพากษาจำคุกรวม 18 ปี
ดารณี หรือ “ดา ตอปิโด” ตกเป็นจำเลยในคดีหมิ่นเบื้องสูงหลังจากที่เธอขึ้นกล่าวปราศรัยบนเวทีเสื้อแดงเมื่อวันที่ 18-19 กรกฎาคม 2551 ที่ท้องสนามหลวง (โดยสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยตกเป็นจำเลยในข้อหาเดียวกันหลังจากที่นำคำพูดของดารณีมากล่าวซ้ำ)

ดารณีถูกควบคุมตัวมาเป็นเวลา 1 ปี 1 เดือนก่อนจะถูกศาลชั้นต้นตัดสินจำคุกรวม 18 ปี จากความผิด 3 กระทง กระทงละ 6 ปี โดยที่กระบวนการพิจารณาคดีเป็นไปโดยลับ ทนายของดารณีจึงยื่นอุทธรณ์ ล่าสุดศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีใหม่ เนื่องจากศาลชั้นต้นไม่ส่งความเห็นจำเลยให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎหมายที่ให้อำนาจศาลพิจารณาคดีลับขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

ตั้งแต่ถูกควบคุมตัว ดารณีได้ยื่นขอประกันตัวหลายครั้งแต่ไม่ได้รับอนุญาต โดยศาลให้เหตุผลว่าความผิดนี้เป็นความผิดร้ายแรง กระทบกระเทือนความมั่นคงของชาติและจิตใจของประชาชน หากปล่อยตัวไปเกรงว่าผู้ต้องหาจะไปกระทำผิดซ้ำอีกหรือหลบหนี นอกจากนั้นระหว่างถูกคุมขัง เธอยังถูกกักขังเดี่ยวเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 3 เดือน และต้องสวมเครื่องแบบนักโทษที่มีขลิบสีแดงตรงปลายแขน ซึ่งเป็นชุดของผู้ต้องโทษอุจฉกรรจ์ เช่น ฆ่าคนตาย และค้ายาเสพติดเกินหมื่นเม็ดขึ้นไปทุกครั้งที่ขึ้นศาล

ดารณีประสบความยากลำบากในการดำรงชีวิต เนื่องจากเธอป่วยเป็นโรคขากรรไกรอักเสบเรื้อรัง แม้ญาติ ทนาย และองค์กรสิทธิมนุษยชนพยายามยื่นเรื่องต่อเรือนจำขอให้ส่งตัวไปรักษายังโรงพยาบาลภายนอกหลายครั้งแต่ศาลยกคำร้อง

3.       ธันย์ฐวุฒิ  ทวีวโรดมกุล อายุ 38 ปี อาชีพนักออกแบบเว็บไซด์: ถูกพิพากษาจำคุก 13 ปี

ธันย์ฐวุฒิ  หรือ “หนุ่ม นปช. ยูเอสเอ”ตกเป็นจำเลยข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีกล่าวหาว่าเขาเป็นผู้โพสต์ข้อความหมิ่นเบื้องสูงในเว็บไซด์นปช.ยูเอสเอโดยใช้ชื่อว่าadmin และยังกล่าวหาว่าเขาเป็นผู้ให้บริการเว็บไซด์ดังกล่าว ก่อนศาลชั้นต้นตัดสินจำคุกรวมทั้งสิ้นเป็นเวลา 13 ปี ต่อมาเขาได้ยื่นขอประกันตัว แต่ศาลอุทธรณ์ยกคำร้องโดยให้เหตุผลว่าเขาถูกจับพร้อมของกลางและรับสารภาพ และคดีมีอัตราโทษสูงหากปล่อยไปเกรงจะหลบหนี

กรณีนี้เครือข่ายพลเมืองเน็ตซึ่งเป็นองค์กรอิสระประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์และนักกฎหมายได้ตั้งข้อสังเกตว่าคำพิพากษาของศาลอาญาแสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจของผู้อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ถึงความเป็นไปได้และข้อเท็จจริงทางเทคโนโลยี เช่น การโยงการเข้าถึง FTP ได้ว่าเท่ากับการเป็นผู้ดูแลระบบ, การเข้าใจว่าเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ได้เท่ากับว่าสามารถแก้ไขเนื้อหาในระบบคอมพิวเตอร์ดังกล่าวได้, ความไม่เข้าใจว่าระบบอินเทอร์เน็ตนั้น ประกอบด้วยหลายบริการ ที่แยกจากกัน เช่น อีเมล, FTP, เว็บ (WWW), แชท, ฯลฯ และทำงานจากการประสานกันของหลายชิ้นส่วนซึ่งไม่จำเป็นต้องดูแลโดยผู้ดูแลระบบคนเดียวกัน, และความไม่เข้าใจในระบบคอมพิวเตอร์ที่ให้บริการเว็บว่าสามารถเชื่อมโยงและทำงานร่วมกันอย่างเป็นอิสระจากกันอย่างไร เป็นต้น

นอกจากนี้ระหว่างกระบวนการสอบสวนในชั้นตำรวจ ธันย์ฐวุฒิอ้างว่าเขายอมรับสารภาพเนื่องจากถูกบังคับ และเกรงจะเกิดอันตรายกับบุตรชายวัย 11 ขวบเพราะเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมบุตรไว้ (ระหว่างเบิกความในชั้นศาล เจ้าหน้าที่ยอมรับว่าได้ควบคุมตัวบุตรชายของธันย์ฐวุฒิไว้จริง) รวมทั้งไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อกับญาติ หรือทนายความ นอกจากนั้นระหว่างถูกคุมขัง เขายังถูกผู้ต้องหาในเรือนจำซึ่งเป็นชายฉกรรจ์หลายนายรุมทำร้ายร่างกายหลายครั้ง

4.       อำพล ตั้งนพกุล อายุ 61 ปี กรณีส่งSMSเข้าข่ายหมิ่นฯไปยังมือถือเลขาฯนายกฯ
วันที่ 4 สิงหาคม 2553 อำพลถูกตำรวจนำกำลังกว่า 15 นาย พร้อมกองทัพนักข่าวเข้าค้นบ้านพักและจับกุมตัว โดยอ้างว่าเขาส่ง SMS ซึ่งมีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูงไปยังโทรศัพท์มือถือของเลขานุการนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี อำพลปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยยืนยันว่าไม่เคยส่งSMS เพราะโดยลำพังเขาไม่เข้าใจเทคโนโลยีการสื่อสารมากนัก และเขาใช้โทรศัพท์มือถือสำหรับโทรเข้า-ออกเท่านั้น อย่างไรก็ตามเขาถูกตั้งข้อหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

เขาถูกอัยการสั่งฟ้องและศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ประกันตัวโดยให้เหตุผลว่า “พิเคราะห์ความหนักเบา ของข้อหา ตลอดจนพฤติการณ์แห่งคดีเป็นการกระทำต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินีและองค์รัชทายาท นับเป็นเรื่องร้ายแรงและกระทบความรู้สึกของปวงชนชาวไทย หากให้จำเลยปล่อยตัวชั่วคราวเกรงว่าจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว…" แม้ว่าก่อนหน้านี้เขาได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวนหลังจากถูกนำตัวไปฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯราว 2 เดือน โดยที่เขามารายงานตัวต่อศาลอย่างสม่ำเสมอ

ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่เพียงเฉพาะด้านสุขภาพของอำพล ซึ่งเขาป่วยเป็นมะเร็งช่องปาก แต่ยังส่งผลกระทบต่อครอบครัวทั้งด้านเศรษฐกิจและจิตใจ เนื่องจากโดยปรกติแล้วอำพลและภรรยาทำหน้าที่เลี้ยงดูหลาน 3 - 4 คนแทนลูกๆของเขาซึ่งต้องทำงานหาเช้ากินค่ำ การที่อำพลถูกจับกุมทำให้ครอบครัวซึ่งมีฐานะยากจนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการหาทนาย รวมทั้งค่าเดินทางไปเยี่ยมอำพลในเรือนจำ นอกจากนั้นลูกชายของเขาต้องออกจากงานเนื่องจากถูกที่ทำงานกดดันจากการที่พ่อของเขาต้องคดี หรือลูกสาวและหลานที่ถูกเพื่อนบ้านล้อเลียน

5.       จีรนุช เปรมชัยพร อาชีพผู้อำนวยการเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท
คดีแรก : มาตรา 14, 15 พ.ร.บ.คอม
วันที่ 6 มี.ค.2552 ตำรวจได้บุกจับกุมจีรนุช ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไทที่สำนักงาน เนื่องจากพบว่ามีผู้อ่านโพสต์ข้อความในเว็บบอร์ดประชาไทซึ่งอ้างว่ามีเนื้อหาหมิ่นเบื้องสูง แม้ข้อความทั้ง 10 ข้อความถูกลบไปแล้วหลายเดือนก่อนที่จะมีการแจ้งข้อกล่าวหาและดำเนินคดี

ต่อมาวันที่ 31 มี.ค.53 พนักงานอัยการได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจีรนุชเป็นจำเลยต่อศาลอาญา ในฐานความผิดเป็นผู้ให้บริการ จงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำผิดโดยนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้ อื่นและประชาชน, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่ง ข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้ว่าเป็นข้อมูลที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เป็นความผิดตามมาตรา 14, 15 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการสืบพยานในชั้นศาล

คดีที่สอง : มาตรา 14, 15 พ.ร.บ.คอม , 112, 116 กฎหมายอาญา
วันที่ 24 ก.ย.2553 จีรนุช ถูกควบคุมตัวที่สถานบินสุวรรณภูมิหลังจากกลับจากการประชุม Internet at Liberty 2010 ประเทศฮังการี และถูกนำตัวไปสอบสวนยัง สภอ.ขอนแก่นทันที และได้ประกันตัวในคืนวันนั้น โดยตำรวจเปิดเผยว่า มีผู้มาร้องทุกข์กล่าวโทษผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไทในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตั้งแต่ปี 2551 จากกรณีที่มีผู้อ่านโพสต์ความคิดเห็นท้ายข่าวในเว็บไซต์ประชาไท จีรนุชถูกตั้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 14, 15 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และมาตรา 112, 116 ของประมวลกฎหมายอาญา เหตุดังกล่าวทำให้จีรนุชต้องเดินทางไปขอนแก่นเพื่อรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานสอบสวนประมาณเดือนละ 1 ครั้ง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2554 ครบกำหนด 6 เดือน ตามอำนาจเจ้าพนักงานสอบสวนในสัญญาประกัน เจ้าพนักงานจึงนัดหมายเพื่อดำเนินการขออำนาจศาลในการฝากขังต่อ แต่จีรนุชได้คัดค้านการขอฝากขัง ซึ่งศาลพิจารณาแล้วมีความเห็นยกคำร้องขอฝากขังของตำรวจ ทำให้จีรนุชไม่จำเป็นต้องเดินทางไปรายงานตัวต่อ แต่จำเป็นจะต้องไปตามนัดหมายหากเจ้าหน้าที่ส่งสำนวนคดีให้อัยการ และเมื่ออัยการส่งฟ้องต่อศาล

6.       จิตรา คชเดช อดีตประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย: เลิกจ้างเพราะขาดวิญญาณประชาชาติไทย
เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2551  เวลา 23.00น จิตราได้รับเชิญให้ไปออกรายการของสถานีโทรทัศน์ NBT หัวข้อ “ทำท้อง ทำแท้ง” โดยเธอได้ใส่เสื้อยืดสีดำ มีข้อความว่า “ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร คิดต่างไม่ใช่อาชญากรรม” (ซึ่งเป็นเสื้อรณรงค์กรณีที่นักศึกษาคนหนึ่งที่ถูกตั้งข้อหาหมิ่นเบื้องสูงจากการที่เขาไม่ยืนในโรงหนังขณะที่เพลงสรรเสริญพระบารมีดังขึ้น) การใส่เสื้อยืดที่มีข้อความดังกล่าวของจิตราทำให้เธอถูกนายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา และหนังสือพิมพ์ผู้จัดการกล่าวโจมตีว่าเธออยู่ในขบวนการล้มล้างสถาบันกษัตริย์

ต่อมาวันที่ 29 กรกฎาคม 2551 จิตราถูกไล่ออกจากงาน โดยบริษัท บอดี้แฟชั่น ประเทศไทย จำกัด (ผลิตชุดชั้นใน Triumph)ซึ่งเธอทำงานอยู่ อ้างว่าการที่เธอใส่เสื้อยืดดังกล่าวทำให้บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียง ในขณะที่เพื่อนร่วมงานของเธอทั้งหมดเชื่อว่าเป็นความพยายามทำลายสหภาพแรงงาน จึงออกมาร่วมชุมนุมประท้วง

กระทั่งวันที่ 27 พฤศจิกายน 2551 ศาลแรงงานตัดสินให้บริษัทฯเลิกจ้างจิตรา โดยใจความตอนหนึ่งระบุว่า “…วิญญาณประชาติไทยมีเอกลักษณ์ต่างจากชาติอื่น ซื่งเป็นที่ยอมรับหรือเป็นที่ทราบกันดี ประชาชนคนไทยให้ความเคารพยกย่องเทิดทูนพระมหากษัตริย์ใครบังอาจดูหมิ่น เหยียดหยามไม่ได้ การที่ผู้คัดค้าน (จิตรา คชเดช) ใส่เสื้อยืดดังกล่าวออกรายการโทรทัศน์ย่อมทราบดี…การกระทำดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อชาติ และมีผู้เรียกร้องให้(ประชาชน)เลิกซื้อสินค้า…” ด้วยเหตุนี้ศาลเห็นว่าการกระทำของจิตราทำให้นายจ้างเสียหายและอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ จึงอนุญาตให้นายจ้างเลิกจ้างจิตรา โดยที่เธอไม่ต้องรับเงินค่าชดเชยจากการเลิกจ้างใดๆ

ปัจจุบันจิตราร่วมกับคนงานที่ถูกเลิกจ้างผลิตกางเกงใน “เพื่อความเป็นธรรม”ภายใต้ยี่ห้อ Try Arm และยังคงเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยต่อไป

2 ความคิดเห็น:

  1. แต่ละตัวอย่างคดี ที่กลุ่มล้มมาตรา ๑๑๒ ที่ยกมา ล้วนแล้วแต่
    หมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างชัดแจ้ง ด้วยเหตุผลและตัวบทกฎหมาย
    โดยมิได้เป็นแสดงความคิดเห็นในเชิงวิชาการที่เป็นกลาง เป็นธรรม ให้เกียรติต่อสถาบัน
    ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ แต่อย่างใดไม่

    หากแต่ผู้ต้องหาทุกคดีที่ยกมา
    ล้วนเป็นความคิดเห็นที่ลบหลู่ ขู่อาฆาต ใส่ร้ายป้ายสี บิดเบือนข้อเท็จจริงต่อสถาบัน
    ด้วยอคติ โมหะ โทสะ ความเหยียดหยาม เกลียดชิงชัง ทุกคดี

    ตอบลบ
  2. ณ ปัจจุบันนี้ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตยใช่หรือไม่ สถาบันสามารถเข้าไปแทรกแซงการเมือง องค์กรอิสระ หรือแสดงความไม่เป็นกลางทางการเมืองและอาฆาตมาตร้ายต่อประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งตามใจชอบได้ใช่หรือไม่ ถ้าต้องการอย่างนี้เราควรจะลบแผนที่ประเทศไทยออกจากแผนที่โลกจะดีไหม ในเมื่อเราไม่ยอมพัฒนาชาติในด้านต่างๆให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ

    ตอบลบ