วันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2554

ถาม-ตอบว่าด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ถาม-ตอบว่าด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
โดย โครงการมาตรา 112: รณรงค์เพื่อความตื่นรู้ในกฎหมายหมิ่นฯ

Q1 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คืออะไร? 
A1 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือที่เรียกกันว่า “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ระบุว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย (1) พระมหากษัตริย์ (2) พระราชินี (3) รัชทายาท หรือ (4) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”

Q2 กฎหมายนี้มีความเป็นมาอย่างไร?
A2 ในสมัยรัชกาลที่ห้า มีพระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาทด้วยการพูดหรือเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ รศ. 118 มาตรา 4 ซึ่งระบุโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับเป็นเงินไม่เกิน 1,500 บาท หรือทั้งจำและปรับ ต่อมาได้มีการจัดทำประมวลกฎหมายอาญาขึ้น ชื่อ "กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127" มาตรา 98 ระบุโทษไม่เกิน 7 ปี (ไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ) และปรับไม่เกิน 5,000 บาทด้วย หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี 2500 ได้จัดทำประมวลกฎหมายขึ้นใหม่ ชื่อ "ประมวลกฎหมายอาญา" ในมาตรา 112 กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี (ไม่มีโทษปรับ) ต่อมาภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาโดยคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 41 โดยเพิ่มโทษเป็นโทษจำคุกขั้นต่ำ 3 ปี ไม่เกิน 15 ปี(กำหนดโทษขั้นต่ำเอาไว้ด้วย) จะเห็นได้ว่ากำหนดอัตราโทษที่สูงมากเช่นนี้ ขัดต่อหลักประชาธิปไตย ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความพอสมควรแก่เหตุ

Q3 ประเทศอื่นๆมีกฎหมายที่คุ้มครองกษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐหรือไม่?
A3 ประเทศต่างๆ เช่น เยอรมนี นอร์เวย์ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ สเปน จอร์แดน เดนมาร์ก ล้วนมีมาตราที่ระบุให้กษัตริย์อยู่ในสถานะที่ละเมิดหรือกล่าวโทษไม่ได้ แต่ความแตกต่างของกฎหมายของไทยกับประเทศเหล่านั้นส่วนหนึ่งอยู่ที่อัตราโทษและความถี่ในการฟ้องร้องคดี กล่าวคือในขณะที่ ในศตวรรษที่ 21 กฎหมายหมิ่นฯของประเทศไทยมีบทลงโทษที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศเหล่านั้น โดยอัตราโทษที่ต่ำที่สุดของไทย (3 ปี) เท่ากับอัตราโทษที่สูงที่สุดของจอร์แดน และโทษขั้นสูงที่สุดของไทยมากกว่าประเทศส่วนมากในภูมิภาคยุโรปถึงสามเท่า ยกตัวอย่างเช่น ประเทศสเปนจำคุก 6 เดือน ถึง 2 ปี นอร์เวย์ ไม่กำหนดโทษขั้นต่ำและโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 5 ปี  เนเธอร์แลนด์ จำคุกไม่เกิน 5 ปี และมีโทษปรับ  สวีเดนจำคุกไม่เกิน 6 ปี  ในขณะที่ความถี่ในการฟ้องร้องคดีหมิ่นฯในประเทศเยอรมนีเคยมีมากเป็นอันดับหนึ่งในศตวรรษที่ 19 - 20  หรือสเปนและญี่ปุ่นเมื่อ 70-80 ปีที่แล้วมีการฟ้องร้องคดีหมิ่นฯจำนวนมากเมื่อเทียบกับไทยในสมัยเดียวกัน แต่จำนวนคดีหมิ่นฯในปัจจุบันของไทยกลับแซงหน้าเป็นอันดับที่หนึ่ง

Q4 สถานการณ์คดีหมิ่นฯของประเทศไทยในปัจจุบันเป็นอย่างไร?
A4 ตัวเลขผู้ที่ถูกกล่าวหาและถูกดำเนินคดีข้อหาหมิ่นฯ เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในระยะเวลาที่ผ่านมา  ในระหว่างปี 2535 – 2547 ตัวเลขของคดีหมิ่นฯที่มีการฟ้องร้องกันในศาลเฉลี่ยแล้วมีน้อยกว่า 10 คดี ดังนั้นผลกระทบจากกฎหมายดังกล่าวจึงยังจำกัดอยู่ในวงแคบ แต่ระหว่างปี 2548 – 2552 ตัวเลขของคดีหมิ่นฯมีมากถึง 547 คดี ที่ถูกนำไปพิจารณาคดีทั้งในระดับศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา เฉลี่ยแล้วปีละ 109 คดี และมีที่ศาลมีคำตัดสินว่าเป็นการหมิ่นฯแล้วจำนวน247 คดี  ในปี 2552 เพียงปีเดียวมีการดำเนินคดีข้อหาหมิ่นฯในระดับศาลชั้นต้นมากถึง 164 คดี
นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มที่เจ้าหน้าที่รัฐตั้งข้อหาหมิ่นฯควบคู่ไปกับพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 15 และ16  ผลการศึกษาสถิติการดำเนินคดีตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ระหว่างปี 2550 – 2553 พบว่า คดีที่เกี่ยวข้องกับข้อหาหมิ่นฯมีมากถึง 31 คดี ในจำนวนนี้เป็นคดีที่ถูกตั้งข้อหาควบคู่กับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถึง 26 คดีและยังมีคดีหมิ่นฯที่อยู่ในชั้นพนักงานสอบสวนอีกอย่างน้อย 997 คดี จากสถิติข้างต้นจะเห็นได้ว่ากฎหมายหมิ่นฯถูกนำมาใช้มากในช่วงที่มีความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง

Q5. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112มีปัญหาอย่างไร?
A5. ปัญหาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112มีหลายประการ ได้แก่
1.การตีความ คำว่า "ดูหมิ่น" เป็นคำที่ไม่มีนิยามชัดเจนในกฎหมาย จึงขัดต่อหลักการพื้นฐานของกฎหมายที่มีโทษอาญาที่ควรจะตีความให้แคบ ส่งผลให้กฎหมายมาตรานี้ไม่มีความชัดเจนแน่นอน ประชาชนไม่สามารถทราบได้เลยว่า การกระทำใดของตนที่ทำไปแล้วจะเป็นความผิดบ้าง

2. อัตราโทษของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำคุกขั้นต่ำ 3-15 ปี ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักความพอสมควรแก่เหตุในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่สิทธิและเสรีภาพของบุคคลมีความสำคัญ

3. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112ไม่มีข้อยกเว้นความผิด กล่าวคือ ผู้ที่แม้แสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์บุคคลโดยสุจริตใจ ไม่สามารถอ้างเหตุใดๆ เพื่อไม่ต้องรับผิดได้ อีกทั้งไม่เปิดโอกาสให้ผู้กล่าววิพากษ์วิจารณ์พิสูจน์ว่าสิ่งที่ตนกล่าวนั้นเป็นความจริงและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมเพื่อขอให้ยกเว้นโทษ

4. กฎหมายดังกล่าวเปิดช่องให้ใครก็ได้กล่าวหาใครก็ได้ว่า “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ต่างจากกฎหมายหมิ่นประมาททั่วไปที่เฉพาะผู้เสียหายเท่านั้นที่จะดำเนินการฟ้องร้องได้ จึงกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ใช้กลั่นแกล้งกันได้ง่าย

5. แนวทางการบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นมาตรฐานและไม่มีความชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาออกหมายจับแทนหมายเรียก การห้ามประกันตัว ซึ่งเป็นไปตามแรงกดดันทางสังคม ทำให้ส่งผลกระทบต่อสิทธิของผู้ต้องหาที่ต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์

6. กระบวนการพิจารณาคดีทางกฎหมายมักเป็นไปโดยลับและรวบรัดขัดต่อหลักกระบวนการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม โดยคดีดังกล่าวถูกมองว่าส่งกระทบต่อความมั่นคงของชาติ อีกทั้งสื่อมวลชนไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาของข้อความที่ถูกกล่าวหาโดยละเอียดได้ จึงปิดโอกาสที่ให้สังคมมีส่วนร่วมในการวินิจฉัย

Q6 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112ส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างไรบ้าง?
A6 ปิดกั้นการแสดงออกทางความคิดเห็นโดยสุจริตในประเด็นสาธารณะที่เกี่ยวพันกับราชการแผ่นดิน หรือพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ  นอกจากนั้น อัตราโทษที่สูงและความไม่มีมาตรฐานในการบังคับใช้กฎหมายยังสร้างบรรยากาศความหวาดกลัวและการเลือกที่จะเงียบของคนในสังคม ทั้งยังถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมือง ที่สำคัญยังส่งผลกระทบไปสู่การใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน ยกตัวอย่าง กรณี“ขบวนการล่าแม่มดออนไลน์” ซึ่งเป็นกระบวนการนอกกฎหมายในการพิพากษาบุคคลที่มีความคิดเห็นแตกต่าง โดยการนำข้อมูลส่วนตัวของบุคคลนั้นและ/หรือครอบครัวมาเผยแพร่เพื่อให้ผู้อื่นต่อว่า หรือแม้กระทั่งข่มขู่ทำร้ายถึงชีวิต

Q7 ดังนั้นควรหาทางออกอย่างไร?
A7 ที่ผ่านมา ทั้งผู้สนับสนุนและคัดค้านกฎหมายนี้ต่างเห็นพ้องกันในเบื้องต้นว่า กฎหมายนี้ก่อให้เกิดผลกระทบกับประชาชนในวงกว้าง.... ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นฯอย่างรอบด้าน และส่งเสริมให้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาถกเถียงในทางสาธารณะเพื่อหาทางออกร่วมกัน

24 ความคิดเห็น:

  1. คนส่วนใหญ่เป็นคนอยู่ในที่ๆสบายอยู่แล้ว
    เลยไม่ค่อยเห็นพระราชกรณีญากิจของพระองค์ท่าน
    เลยคิดที่จะเอาเรื่องส่วนตัวมาเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า
    ส่วนตัวของผมหรือคนที่อยู่ในชนบทคงไม่อยากให้ใครแตะต้อง
    หรือไม่อยากให้ใครดูหมิ่นอาฆาตมาดร้ายพระองค์ท่าน
    ในเมื่อทำผิดไปแล้วทำไมถึงไม่ยอมรับผิดแต่กลับปลุกปันให้
    มีการแก้กฎหมายมากกว่าที่จะไม่ทำผิดตามกฎหมาย
    อีกอย่างเรื่องพระมหากษัตย์เราควรทูลไว้เหนื่อเกล้าอะไรที่ปกป้องท่านได้
    เราก็ควรที่จะสงวนไว้ผมว่าถ้าแก้แก้ให้มีโทษหนักกว่านี้น่าจะดีกว่าอีกนะครับ
    เพราะท่านมีแต่สร้าไม่เคยทำลาย
    แต่เรากลับไม่ทำตามแนวพระราชดำริของท่าน
    แต่คิดที่จะแก้กฎหมายที่ปกป้องท่าน
    ผมเห็นว่าไม่สมควร

    ตอบลบ
  2. แก้ก็ดีน่ะ ครับ อย่างที่เขาว่ากฎหมายมาตรานี้ มีเนื้อหาที่ไม่ชัดเจนมากนัก
    เด็กน้อย ชาวบ้านตาดำๆ ก็อาจจะไม่รู้ว่า สิ่งที่ผม ฉันหรือหนู
    หมิ่นพระบรมราชานุภาพของพระองค์ท่าน

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ชัดเจนนะครับ คำว่าหมิ่นประมาท คนเรียนกฎหมายจะรู้ดี คือการใส่ความอันเป็นเท็จ จนทำให้เสียชื่อเสียง
      และไม่มีกษัตริย์ประเทศไหน ที่ต้องลงไปกล่าวโทษ ประชาชนของตัวเอง มานับ 1000 ปีแล้ว ตอนนี้ก็ไม่มี เพราะกษัตริย์ทุกพระองค์ จะสาบานตนตอนขึ้นครองราชว่า จะปกครองดูแลประชาชนทุกคน หากยกเลิก ท่านก็ต้องลงไปกล่าวโทษเอง เข้าศาลเอง แจ้งความเอง
      พวกคุณกำลังตกเป็นเครื่องมือของพวกล้มเจ้าอยู่ ที่ตีความหมายคำว่า หมิ่นประมาทผิดเพี้ยนไปมาก คุณคิดว่าตัวเองฉลาด แต่ยอมรับเถอะครับ ว่าคุณโดนหลอก

      ลบ
    2. กลัวจนไม่กล้าแสดงความเห็นครับ

      ลบ
    3. ผมอยากตอบนะ แต่ไม่ดีกว่า คุณน่าจะรู้กันดีผมก็ไม่อยากเห็นแบบที่จีนเป็นและทำ

      ลบ
  3. ข้อกฏหมายข้อนี้มีข้อดีและสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลง
    “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย (1) พระมหากษัตริย์ (2) พระราชินี (3) รัชทายาท หรือ (4) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์" เป็นส่วนที่ประชาชนชาวไทยทุกคนหรือคนทั้งโลกไม่สมควรทำอยู่แล้ว มีข้อนี้ไว้ถูกต้องที่สุดครับ

    แต่สิ่งที่ไม่ดีคือสิ่งที่มันตามมากับข้อกฏหมายนี้ต่างหาก
    โดยยุคและสมัยความคิดอ่านที่เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต

    อยากให้เพิ่ม วรรค ต่อของข้อกฏหมายซักหน่อยว่า ผู้กระทำความผิดหมายถึง ผู้ใช้ถ้อยคำหมิ่นหรือแสดงอย่างโจ่งแจ้ง อาจหมายถึง สื่อโฆษณา,เวบไซค์,วิทยุ,หรืออื่นๆที่สามารบันทึกเอาไว้ได้อย่างไรก็ตาม
    ในส่วนข้างต้นเป็นการเพิ่มขยายข้อความจากส่วนนี้ "ลักษณะหมิ่นประมาทด้วยการพูดหรือเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ"

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. และโทษอาจจะหมายถึง ประหารเจ็ดชั่วโคตรไปเลย

      ลบ
    2. คุณ InnoSent ชัดเจนมากเลยครับ ถ้าทำได้อย่างนี้ ก็คงจะดีมากๆ

      ลบ
  4. ไม่ใช่เรื่องเลย...แล้วเรื่องไรต้องไปหมิ่นท่านละคร๊าบ

    ตอบลบ
  5. หมิ่นประมาท คือการใส่ร้าย ป้ายสี ใส่ความอันเป็นเท็จ 112 ไม่ได้ระบุครับ ว่าสถาบันทำผิดกฎหมาย จะต้องละเว้นโทษ กล่าวโทษ ลงอาญาไม่ได้ การหมิ่นประมาท คือการใส่ความครับ การอาฆาตมาดร้ายก็คือการ พยายามทำร้าย
    คนไทย ตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มล้มเจ้าล้มสถาบัน อยู่นะครับ ตาสว่างสักที ท่านลงมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญนานแล้วครับ เพียงแต่ 112 เป็นหลักสากล ที่ทุกประเทศต้องมี เพราะตอนสถาปนากษัตริย์ ท่านได้ให้สาบานไว้ว่า เราจะไม่ทำร้ายประชาชนของเรา ถ้ายกเลิก 112 ท่านก็ต้องผิดคำสาบาน ต้องไปโรงพัก ไปศาล เพื่อกล่าวโทษประชาชนตัวเอง ที่หมิ่นประมาท ใส่ความ

    ตอบลบ
  6. ควรแก้ไขลดโทษให้น้อยลงไปนะคะ เพราะ ปชช ควรมีเสรี ตาม รฐน หมวด 3 (กรณีอากงก็พิสูจน์ไม่ได้ว่าอากงกระทำความผิดจิง กลับมาตัดสินอากงตั้ง 20 ปี) สมควรแก้ไข กม 112 ค่ะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. นั้นสิน่ะครับ อากงไม่ได้ทำผิดจริง
      แต่งงว่า ทำไมเป็นมือถืออากงอ่ะ

      ลบ
  7. หมิ่นประมาท คือการใส่ร้าย ป้ายสี ใส่ความอันเป็นเท็จ 112 ไม่ได้ระบุครับ ว่าสถาบันทำผิดกฎหมาย จะต้องละเว้นโทษ กล่าวโทษ ลงอาญาไม่ได้ การหมิ่นประมาท คือการใส่ความครับ การอาฆาตมาดร้ายก็คือการ พยายามทำร้าย
    คนไทย ตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มล้มเจ้าล้มสถาบัน อยู่นะครับ ตาสว่างสักที ท่านลงมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญนานแล้วครับ เพียงแต่ 112 เป็นหลักสากล ที่ทุกประเทศต้องมี เพราะตอนสถาปนากษัตริย์ ท่านได้ให้สาบานไว้ว่า เราจะไม่ทำร้ายประชาชนของเรา ถ้ายกเลิก 112 ท่านก็ต้องผิดคำสาบาน ต้องไปโรงพัก ไปศาล เพื่อกล่าวโทษประชาชนตัวเอง ที่หมิ่นประมาท ใส่ความ
    บทความของTapzaaa

    ตอบลบ
  8. ถ้าไม่แก้หรือยกเลิกมาตรา112 ก็จะทำให้กษัตริย์ ราชินี และบรมศานุวงศ์ สามารถเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองหรือกระบวนการยุติธรรมได้ตามใจชอบ ดังที่ปรากฎอยู่ แล้วสังคมไทยจะพัฒนาให้เป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศได้อยางไรกัน ประเทศไทยถูกวิจารย์จากนานาชาติมามากแล้วในเรื่องการไม่เป็นประชาธิปไตย จะมีความภูมิใจไปทำไม ที่ให้ระบอบราชาธิปไตยชี้นำสังคมไทยท่ามกลางเสียงประณามจากนานาชาติ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ข้อ 1. ประเทศไทยกำหนดห้ามหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และห้ามหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาไว้ในมาตรา 326 ความว่า

      " มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี "

      " มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ "

      ข้อแตกต่างของความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์กับบุคคลธรรมดาประการแรกก็คือ มาตรา 112 เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ซึ่งหมายความว่ารัฐเป็นผู้เสียหายและเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องดำเนินการกับผู้กระทำความผิด ส่วนมาตรา 326 เป็นความผิดอันยอมความได้หรือความผิดต่อส่วนตัวซึ่งถ้าไม่มีผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษเจ้าหน้าที่รัฐก็จะไม่ดำเนินคดีให้ เหตุที่บัญญัติไว้แตกต่างกันเช่นนี้เพราะไม่มีประเทศใดในโลกที่ประมุขของรัฐจะไปฟ้องร้องกล่าวโทษพลเมืองของตนเอง หากยกเลิกมาตรา 112 ก็เท่ากับเป็นการจำกัดสิทธิประมุขแห่งรัฐไม่ให้สามารถคุ้มครองตนเองจากการถูกหมิ่นประมาทได้

      ยิ่งกว่านั้นการ " หมิ่นประมาท " หมายความว่า ใส่ความโดยไม่เป็นความจริงในลักษณะที่ทำให้ผู้ได้ยินได้ฟังเกลียดชังผู้ถูกใส่ความซึ่งเป็นการกระทำอันชั่วร้ายผิดศีลธรรม การยกเลิกมาตรา 112 มีผลทำให้ประมุขของรัฐซึ่งถูกจำกัดสิทธิที่จะคุ้มครองตนเองโดยฐานะของตนในทางพฤตินัยไม่ได้รับความคุ้มครองและเสียสิทธิที่จะปกป้องตนเองในทางนิตินัยไปพร้อมกันด้วย

      ข้อ 2.กฎหมายอาญาของไทยเป็นกฎหมายที่มีความเป็นสากล กล่าวคือ ให้ความคุ้มครองประมุขของรัฐต่างประเทศและผู้แทนของรัฐต่างประเทศด้วยดังจะเห็นได้จากมาตรา 133 และ มาตรา 134 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า

      " มาตรา 133 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายราชาธิบดี ราชินี ราชสามี รัชทายาท หรือประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปีหรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ "

      " มาตรา 134 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายผู้แทนรัฐต่างประเทศซึ่งได้รับแต่งตั้งให้มาสู่พระราชสำนัก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปีหรือปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ "

      ถ้ายกเลิกมาตรา 112 ผลตามกฎหมายก็คือ ประเทศไทยให้ความคุ้มครองประมุขแห่งรัฐต่างประเทศแต่ไม่คุ้มครองประมุขของตนเองซึ่งเป็นเรื่องผิดวิสัยของอารยประเทศอย่างยิ่ง หากจะยกเลิกมาตรา 133 และมาตรา 134 ไปพร้อมกับมาตรา 112 ผลก็คือประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศป่าเถื่อนในสายตาสังคมโลกและไม่มีประเทศที่เจริญแล้วประเทศใดในโลกคบค้าสมาคมด้วย เพราะไม่ให้เกียรติแก่ประมุขของเขาซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์แห่งเกียรติยศสูงสุดของประเทศเหล่านั้น

      ลบ
    2. แจ่มเลยครับ ไม่ทราบว่าคุณsaur reows เอาส่วนไหนไปคิด

      ลบ
  9. ผู้ที่ไม่ต้องการให้แก้มาตรา112ก็คือคนที่ต้องการลดความน่าเชื่อถือและขัดขวางความเจริญของชาติทุกด้านและทุกมิติ ใช่หรือไม่

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ไม่ใช้ครับก็อยากให้เจริญอยู่ แต่แก้แล้วเจริญขึ้นหรือไง พระมหากษตริย์ไม่มีสวนร่วมในการเมื่องความเจริญก็ให้ประชาชนหรือรัฐบาลจัดการไม่ใช้หลอครับ

      ลบ
    2. คิดได้ไงอ่ะ ยกเลิกกฏหมาย มาตรา 112

      ลบ
  10. ไม่แฟร์ครับ ถามมาก็ตอบไม่ได้ จะถามทำไมกันเรือง112 ถ้าอยากให้คนมาตอบจริงๆก็ยกเลิก112 ก่อนซิ แล้วทุกท่านก็จะรู้เหตุผลอีกมากมาย กฎหมายนี่มันเหมือนกฎหมายปิดปาก น่ะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. โอย...คิดได้ไงอ่ะ กฏหมายปิดปาก ปากหมาล่ะสิไม่ว่า

      ลบ
  11. ฉันคิดว่าความเจริญของประเทศขึ้นอยู่กับสมองและสองมือของทุกคนในชาติ...ถ้าเอาแต่คิดว่ามีกฎหมายข้อนี้แล้วขัดความเจริญแต่ไม่เคยกลับมาดูความคิดและการกระทำของตนว่าพยายามทำดีที่สุดแล้วหรือยังหรือเอาแต่เห็นแก่ตัวเอาแต่โทษสิ่งนั้นสิ่งนี้รอบข้าง...มันก็ไม่มีวันเจริญหรอกค่ะ...ความเจริญไม่ได้ขึ้นอยู่กับกฎหมายเช่นเดียวกับการเรียนถ้าไม่ตั้งใจและพยายามด้วยตนเองก็ไม่มีวันสำเร็จได้...

    ตอบลบ
  12. ผมอยากรู้จริง ๆ ว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มันทำให้ใครเดือดร้อนกันหนักหนา เพราะว่าถ้าเราไม่ไปพูดหรือกระทำการ ที่เป็น หมิ่น ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทน เราก็ไม่เห็นต้องไปเดือดร้อนเลย ผมคิดว่าขนาดคนธรรมดายังมีกฎหมายว่าความผิดว่าด้วยเรื่องการหมิ่นประมาทผู้อื่นเลย แล้วนี่จะมีกฎหมายที่เอาไว้ปกป้องพระมหากษัตริย์บ้างไม่ได้หรือ แล้วที่มีบางคนบอกว่า ก็ใช้กฎหมายธรรมดาที่ว่าด้วยความผิดเนื่องจากความผิดจากการหมิ่นประมาทก็ได้หนิ แต่คุณควรทราบไว้ด้วยว่า พระมหากษัตริย์ไม่สามารถมาฟ้องร้องหรือกระทำการทางกฎหมายต่อประชาชนของพระองค์ได้ ดังนั้นควรมีกฎหมายนี้ไว้อย่างยิ่ง

    ตอบลบ