กรณีวราวุธ ฐานังกรณ์ ("สุชาติ นาคบางไทร")
ข้อมูลด้านคดีและการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้อง:
14 ตุลาคม 2551 วราวุธ ฐานังกรณ์ เจ้าของนามแฝง "สุชาติ นาคบางไทร" ได้ขึ้นปราศรัยที่เวทีแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ท้องสนามหลวง ข้อความบางตอนของการปราศรัยดังกล่าวได้นำไปสู่การตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และออกหมายจับใน 3 วันต่อมา
วราวุธหรือสุชาติ หายตัวไปตั้งแต่นั้น ข่าวและความเห็นในหน้าอินเตอร์เนตส่วนใหญ่ชี้ไปในทางเดียวกันว่า ปัจจุบันเขาอยู่ในระหว่างหลบหนีการจับกุม
รายละเอียด:
17 ตุลาคม 2551
ที่ศาลอาญารัชดา ถนนรัชดาภิเษก พ.ต.ท.สุเมธ จิตต์พานิชย์ รอง ผกก.(สส.)สน.ชนะสงคราม หนึ่งในคณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ของกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ได้ยื่นคำร้องขออนุมัติศาลออกหมายจับ วราวุธ ฐานังกรณ์ หรือนามแฝง "สุชาติ นาคบางไทร" อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. และแกนนำคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ ในข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี กรณีกล่าวปราศรัยที่เวทีแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2551 โดยได้นำพยานหลักฐานทั้งเทปบันทึกถ้อยคำการปราศรัย และคำถอดเทปมายื่นต่อศาลไว้เป็นพยาน โดยศาลได้รับเรื่องไว้
ต่อมา ศาลได้พิจารณาคำร้องและพยานหลักฐานประกอบคำร้อง แล้วเห็นว่า ในชั้นนี้มีหลักฐานตามสมควรว่าผู้ต้องหาน่าจะได้กระทำความผิดคดีอาญาซึ่งมี อัตราโทษจำคุกเกินกว่า 3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงมีเหตุที่จะออกหมายจับผู้ต้องหาได้ อนุญาตให้ออกหมายจับผู้ต้องหาได้ตามคำขอ และเมื่อจัดการตามหมายจับแล้วให้ส่งบันทึกการจับกุมต่อศาลภายใน 7 วัน
ด้านพล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ระบุว่า กรณีดังกล่าว ตำรวจได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย คือ ประกาศสืบจับบุคคลดังกล่าวทันที ซึ่งหากผู้ต้องหาต้องการมอบตัว ก็สามารถติดต่อขอมอบตัวได้ที่สน.ชนะสงคราม แต่ขณะนี้ตำรวจยังไม่ได้รับการประสานขอเข้ามอบตัวแต่อย่างใด ซึ่งฝ่ายสืบสวนได้เข้าประกบ หากพบตัวก็จะเข้าจับกุมตามหมายจับทันที
ทั้งนี้พล.ต.ต.อำนวย ได้ขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่ายหยุดพูดจาจาบจ้วงสถาบันเบื้องสูง เพราะถือว่าไม่เหมาะสม และที่ผ่านมาตำรวจเองมีการดำเนินคดีกับบุคคลที่กระทำผิดฐานหมิ่นสถาบันเบื้องสูงมาแล้ว กับกลุ่มผู้ชุมนุมทั้ง 2 ฝ่าย
18 ตุลาคม 2551
พ.ต.ท.สุเมธ จิตต์พานิชย์ รองผู้กำกับการ ฝ่ายสืบสวนสอบสวน สน.ชนะสงคราม กล่าวถึงความคืบบหน้าการติดตามตัววราวุธ ฐานังกรณ์ หรือสุชาติ นาคบางไทร ภายหลังศาลอาญาอนุมัติหมายจับในข้อหาหมิ่นสถาบัน ว่า ฝ่ายสืบสวน สน.ชนะสงคราม อยู่ระหว่างลงพื้นที่ตามบ้านญาติและที่พักของผู้ต้องหา เพื่อติดตามตัวแล้ว
โดยพ.ต.ท.สุเมธ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า พนักงานสอบสวนเปิดโอกาสให้เข้ามอบตัว แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับการประสานจากผู้ต้องหาแต่อย่างใด ซึ่งหากเข้ามอบตัวหรือถูกจับกุมตัวได้ และต้องการยื่นขอประกันตัวก็สามารถทำได้ เชื่อว่าผู้บังคับบัญชาคงจะพิจารณาให้ประกันตัวเหมือนกับผู้ต้องหารายอื่นใน คดีเดียวกันที่ถูกจับกุมได้ก่อนหน้านี้
..................................................
ข้อมูลส่วนตัว
วราวุธ ฐานังกรณ์ เจ้าของนามแฝง "สุชาติ นาคบางไทร" เป็นพี่ชายของประจิณ ฐานังกรณ์ วราวุธเกิดเมื่อปี 2501 ที่โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพฯ
ข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ระบุว่า หลังจากสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วราวุธได้ประกอบอาชีพเป็นเภสัชกร โดยเคยดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายผลิตยาน้ำและยาผง บรัท เวลโนวน์ ลาบอราทอรี่ จำกัด, เภสัชกรขึ้นทะเบียนตำรับยากระทรวงสาธารณสุข บริษัท เวลโนวน์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, เภสัชกรการตลาด บริษัท เบอริงเกอร์ อินเกลไฮม์ จำกัด, เภสัชกรฝ่ายผลิตยาน้ำ บริษัท เภสัชกรนอกเวลา ห้องยา โรงพยาบาลกรุณาพิทักษ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอสเอเอช (ประเทศไทย) จำกัด, ผู้จัดการฝ่ายการตลาด โรงงานยาตราพระผู้จัดการฝ่ายคอมพิวเตอร์และงานบุคคล บริษัท เจ็นตร้า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, ผู้จัดการทั่วไป บริษัท พรภิญโญ แบริ่งส์ แอนด์ ซัพพลาย จำกัด, ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ฟอยล์มาสเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด และสมาชิกเภสัชสภา ก่อนถูกดำเนินคดี วราวุธดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท ชินด์เลอร์ จำกัด
ในด้านอื่นๆ วราวุธคืออดีตกรรมการผู้ช่วยฝ่ายหารายได้สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ประจำปี 2546-2548,สมาชิกตลอดชีพสมาคมฝึกพูดแห่งประเทศไทย, อดีตผู้บรรยายรับเชิญเรื่องการใช้อินเทอร์เน็ต กรมพัฒนาธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์ และเป็นเจ้าของธุรกิจเว็บโฮสติ้ง ที่ห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า มีข้อมูลระบุว่า เขาชอบงานเผยแพร่อินเทอร์เน็ตให้มวลชน และสนับสนุนการใช้รหัสประชาธิปไตย หรือดีโค้ด ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง
ในด้านการเคลื่อนไหวทางการเมือง วราวุธเป็นที่รู้จักในฐานะแกนนำกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ และ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 (คปพร.) เขาทำกิจกรรมเคลื่อนไหวร่วมกับประชาชนฝ่ายที่ต่อต้านรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ภายใต้ชื่อ "สุชาติ นาคบางไทร" และเคยลงสมัครผู้ว่าฯกทม. ในปี 2551 ข้อมูลในเวบไซต์หนึ่งระบุว่า เขาได้ 2,771 คะแนน ขณะที่วิกิพีเดียระบุว่า วราวุธ "ได้คะแนนไปราว 2,000 คะแนน" ในการเลือกตั้งครั้งดังกล่าว และมาเป็นอันดับที่ 7 จากจำนวนผู้สมัคร 16 คน
วราวุธเคยถูกแจ้งความในข้อหาคุกคามสื่อมวลชน หลังจากที่เขาถ่ายรูปนักข่าวในห้องแถลงข่าวรัฐสภา เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2551
หลังถูกออกหมายจับในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2551 วราวุธได้หายตัวไป ข่าวและความเห็นในหน้าอินเตอร์เนตส่วนใหญ่ชี้ไปในทางเดียวกันว่า ปัจจุบันเขาอยู่ในระหว่างหลบหนีการจับกุม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น