วันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2554

กรณีประจิณ ฐานังกรณ์

กรณีประจิณ ฐานังกรณ์

ข้อมูลด้านคดีและการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้อง:

คดีเริ่มต้นที่ชนาภัทร ณ นคร ได้ฟ้องร้องต่อกองบังคับการปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่ามีการตั้งกระทู้ในเว็บบอร์ดประชาไท อันอาจจะเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยหลังจากนั้นได้มี "หมายเรียกพยาน" จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถึงประจิณ ฐานังกรณ์ ระบุให้ไปให้ปากคำ 

18 ตุลาคม 2550 ระหว่างที่เข้าไปรายงานตัวให้ปากคำตามหมายเรียก ประจิณได้รับทราบจากพนักงานสอบสวน ว่า ในกระทู้ "สถาบันกษัตริย์ส่งเสริมหรือเป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย" ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2549 ได้มีข้อความแสดงความเห็นที่ลงชื่อว่า “ประจิณ ฐานังกรณ์” 

24 ตุลาคม 2550 ในการพบพนักงานสอบสวนครั้งที่สอง ประจิณได้ให้ปากคำว่า ได้กลับไปทบทวนแล้ว แต่ไม่สามารถจำได้ว่าตนเองเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวหรือไม่ เนื่องจากเวลาที่ระบุในกระทู้นั้นผ่านมานานมากแล้ว อีกทั้งกระทู้ดังกล่าวได้หายไปแล้ว ทำให้ตนไม่สามารถตรวจสอบได้

ภายหลังจากให้ปากคำดังกล่าว ประจิณได้ออกมาเปิดเผยว่า ยังไม่มีการนัดหมายสอบปากคำอีก เนื่องจากคดีประเภทนี้ พนักงานสอบสวนจะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลและส่งให้คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นเพื่อ พิจารณา โดยต้องรอคำสั่งจากคณะกรรมการก่อนว่าต้องสอบเพิ่มหรือไม่


รายละเอียด:

11 ตุลาคม 2550 
ประจิณ ฐานังกรณ์ ประธานกลุ่มธรรมาธิปไตย และผู้ใช้เว็บบอร์ดประชาไท ได้ออกมาเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2550 ตนได้รับโทรศัพท์จากพ.ต.ท.อภิชน เจริญผล พนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปราม สอบถามว่าสามารถไปพบที่กองบังคับการปราบปราม ตาม "หมายเรียกพยาน" ในวันดังกล่าวได้หรือไม่ แต่เนื่องจากตนไม่เคยทราบเรื่องนี้ จึงขออนุญาตเลื่อนการให้ปากคำออกไปก่อน

ประจิณ ได้ข้อมูลว่า ตนเพิ่งได้ทราบว่ามีการส่ง "หมายเรียกพยาน" จากกองบังคับการปราบปรามถึงตน เมื่อได้รับโทรศัพท์จากพ.ต.ท.อภิชนนี่เอง เนื่องจากก่อนหน้านั้นมาตนไม่อยู่บ้าน และจนถึงขณะนี้ ตนก็ยังไม่ทราบว่ากระทู้ที่ชนาภัทรอ้างถึงนั้นคือกระทู้ใด ซึ่งตามที่ตนได้โทรศัพท์ไปสอบถามพนักงานสอบสวนนั้น พ.ต.ท.อภิชนได้ให้ข้อมูลว่า เป็นข้อความในกระทู้ที่ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2549 ตนได้จึงลองย้อนไปค้นหาว่า ในวันที่ดังกล่าว ตนได้ตั้งกระทู้หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดบ้าง และพบว่า มีการเขียนถึง "ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ"

ประจิณได้เปิดเผยเพิ่มเติมว่า พ.ต.ท.อภิชนได้อธิบายให้ตนฟังว่า ถ้าหากข้อความที่อาจจะเข้าข่ายว่ามีข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น ไม่ใช่เป็นข้อความของประจิณ เจ้าหน้าที่ก็จะสอบและลงบันทึกไว้ว่า ไม่ใช่ข้อความของตน แต่หากข้อความนั้นเป็นของประจิณ ก็จะมีการนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการ เพื่อหาข้อสรุปว่า ข้อความนั้นเข้าข่ายความผิดกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่ ซึ่งตนคาดว่าน่าจะไปพบพนักงานสอบสวนภายในสัปดาห์นี้

ทั้งนี้ "หมายเรียกพยาน" ดังกล่าว ได้ระบุให้ประจิณ ฐานังกรณ์ไปให้ปากคำในวันที่ 4 ตุลาคม 2550 ในฐานะ "พยาน" ในคดีที่ชนาภัทร ณ นคร ได้ฟ้องร้องต่อกองบังคับการปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่า ข้อความบนเว็บบอร์ดประชาไท อาจเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อย่างไรก็ตาม ในหมายเรียกดังกล่าว ได้ระบุในส่วน "ผู้ต้องหา" ว่า “ไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำผิด”

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่า เคยรู้จักกับชนาภัทร ณ นคร เป็นการส่วนตัวหรือไม่ ประจิณตอบว่า เคยชุมนุมต้านรัฐประหารด้วยกันครั้งหนึ่งที่ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 เท่านั้น

อนึ่ง ประจิณ ฐานังกรณ์ เป็นหนึ่งในผู้ที่ร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านทางกระดานข่าวต่างๆ อาทิ ประชาไท ฟ้าเดียวกัน และกลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ ส่วนใหญ่ประจิณมักแสดงความคิดเห็น โดยเปิดเผยชื่อ-นามสกุล พร้อมทั้งช่องทางต่างๆ ที่ให้ผู้อื่นสามารถเข้าถึงและพูดคุยกับตนโดยตรงได้ เช่น ที่อยู่อีเมล หมายเลขโทรศัพท์


18 ตุลาคม 2550 
เมื่อเวลา 10.00 น. ที่กองบังคับการปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประจิณ ฐานังกรณ์ ได้เข้าพบและให้ปากคำต่อ พ.ต.ท.อภิชน เจริญผล พนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปราม และรับทราบว่า ในกระทู้ "สถาบันกษัตริย์ส่งเสริมหรือเป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย" ซึ่งตั้งขึ้นในเวบบอร์ดประชาไท เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2549 ได้มีข้อความแสดงความเห็นที่ลงชื่อว่า “ประจิณ ฐานังกรณ์” ซึ่งประจิณรับจะไปตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน เนื่องจากเวลาที่ระบุในกระทู้นั้นผ่านมานานมากแล้ว โดยจะมาพบกับพนักงานสอบสวนอีกครั้ง ในวันพุธที่ 24 ตุลาคม 2550 เวลา 10.00 น.

นอกจากนั้น ประจิณ ยังได้ให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนว่า ปัจจุบันตนอายุ 53 ปี และว่างงาน เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยประกอบธุรกิจเป็นเจ้าของโรงงานกางเกงยีนส์ แต่ประสบปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จนต้องเลิกกิจการไป สำหรับการใช้อินเทอร์เน็ตนั้น ตนใช้เพื่อหาข้อมูล ดูเว็บไซต์ ฝึกภาษาอังกฤษ และอ่านข่าวทั่วไปรวมถึงเว็บประชาไท ส่วนการตั้งกระทู้ในเว็บบอร์ดนั้น โดยปกติจะไม่ทราบว่า ผู้ตั้งกระทู้เป็นใคร

24 ตุลาคม 2550
ประจิณ ฐานังกรณ์ ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า ตนได้ไปให้ปากคำกับ พ.ต.ท.อภิชน เจริญผล พนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปราม ตามที่ได้นัดหมายไว้แล้ว โดยได้ให้ปากคำว่า ไม่สามารถจำได้ว่าตนเองเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวหรือไม่ เนื่องจากไม่แน่ใจในเอกสาร และวันเวลาที่ระบุในกระทู้นั้นก็ผ่านมานานมาก อีกทั้งกระทู้ดังกล่าวได้หายไปแล้ว ทำให้ตนไม่สามารถตรวจสอบได้

ประจิณกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า หลังจากนั้นพนักงานสอบสวนได้สอบถามว่า ตนมีความเกี่ยวข้องกับประชาไทหรือไม่ ซึ่งตนได้ตอบว่าไม่เกี่ยวข้อง เมื่อพนักงานสอบสวนถามว่า ปกติแล้วใช้คอมพิวเตอร์ที่ไหน ตนก็ตอบว่าใช้เครื่องคอมฯของตัวเอง พนักงานสอบสวนจึงถามเพิ่มเติมว่า ทราบหมายเลขไอพีของตนเองหรือไม่ ซึ่งประจิณตอบว่า ไม่ได้สังเกตว่าไอพีเป็นอย่างไร ไม่ได้สนใจ อย่างไรก็ตาม ตนพอจะทราบว่าในปัจจุบันมีเครื่องมือที่ช่วยให้สามารถเปลี่ยนไอพีได้ พนักงานสอบสวนได้ถามด้วยว่า เคยเข้าไปแสดงความคิดเห็นในกระทู้ทั่วๆ ไปหรือไม่ ประจิณตอบว่า เคยบ้าง ในบางกระทู้ที่คิดว่าพอจะให้ความเห็นได้ตามความรู้ของตนเอง

ประจิณเปิดเผยเพิ่มเติมว่า หลังจบการให้ปากคำ พ.ต.ท.อภิชนได้ถามตนว่า ปัจจุบันยังเข้าไปตั้งกระทู้ในเว็บประชาไทหรือไม่ และเมื่อตนตอบว่ามีการตั้งกระทู้บ้าง พ.ต.ท.อภิชนก็ได้บอกให้ตนระวัง เพราะอาจจะมีความผิดต่างกรรมต่างวาระได้ โดยอธิบายเพิ่มเติมว่า หากมีการแจ้งความว่าความเห็นนี้ผิด แล้วในขณะดำเนินคดีมีการนำกระทู้มาลงอีกครั้ง ก็อาจเป็นความผิดซ้ำอีกคดีหนึ่งได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อตนถามพ.ต.ท.อภิชนว่า ได้เข้ามาดูเว็บประชาไทบ้างหรือไม่ พ.ต.ท.อภิชนก็หัวเราะแต่ไม่ได้ตอบ

ต่อกรณีนี้ ประจิณกล่าวว่า การที่ตนเสี่ยงตั้งกระทู้บอกกับคนอื่นเกี่ยวกับเรื่องคดี ก็เพื่อความปลอดภัยของตนเอง เนื่องจากเกรงการถูกอุ้มหายมากกว่าการผิดกฎหมายซ้ำ

“มีคนหายอยู่เรื่อยๆ จึงต้องพูด ไม่ใช่มีคดีก็เงียบและห้ามพูด เพื่อความปลอดภัยแล้วต้องพูด” ประจิณกล่าว

นอกจากนี้ ประจิณ ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มว่า ในช่วงที่รอพ.ต.ท.อภิชนเดินทางมาสอบปากคำนั้น ตนได้เดินไปที่ห้องผู้สื่อข่าวในกองบังคับการปราบปราม และสอบถามว่าคิดอย่างไรกับคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งได้รับคำตอบว่า ผู้สื่อข่าวไม่กล้าทำข่าว หรือถึงแม้ทำไปทางกองบรรณาธิการก็ไม่ลงข่าวให้ ซึ่งประจิณมีความเห็นว่า คดีแบบนี้เป็นคดีสำคัญ ผู้สื่อข่าวสามารถรายงานตามข้อมูลที่เป็นจริง แบบไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับประชาชน ทำให้ประเทศมีความเป็นธรรมมากขึ้น อีกทั้งคนที่เจอคดีแบบนี้มีหลายราย หากผู้สื่อข่าวไม่สนใจ คนเหล่านั้นก็อาจเป็นอันตรายได้


เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามถึงความคืบหน้าในคดีที่เขาถูกออก "หมายเรียกพยาน" นั้น ประจิณกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการนัดหมายสอบปากคำอีก เนื่องจากคดีประเภทนี้ พนักงานสอบสวนจะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลและส่งให้คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นเพื่อ พิจารณา โดยต้องรอคำสั่งจากคณะกรรมการก่อนว่าต้องสอบเพิ่มหรือไม่

..................................................


ข้อมูลส่วนตัว

ประจิณ ฐานังกรณ์ อดีตนักธุรกิจเจ้าของโรงงานกางเกงยีนส์ เปิดเผยไว้ในหลายเวบไซต์ว่า เขาเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และได้เข้าร่วมชุมนุมใน "พฤษภาฯเลือด" (พฤษภาคม 2535)

หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ประจิณได้ออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับประชาชนฝ่ายที่ต่อต้านรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ทั้งโดยการเข้าร่วมชุมนุม และการแสดงความคิดเห็นตามหน้าเวบไซต์ ซึ่งเขามักจะระบุชื่อ-นามสกุลจริง รวมทั้งที่อยู่อีเมล (E-mail Address) และหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อกลับไปด้วยเสมอ

ประจิณเป็นพี่ชายของวราวุธ ฐานังกรณ์ เภสัชกรนักเคลื่อนไหว เจ้าของนามแฝง "สุชาติ นาคบางไทร" และผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งหายตัวไปตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2551 หลังถูกออกหมายจับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น