ข้อมูลด้านคดีและความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้อง:
โอลิเวอร์ จูเฟอร์ (Oliver Jufer) ชายชาวสวิส วัย 57 ปี ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2549 ที่จ.เชียงใหม่ ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หลังจากเมามายและพ่นสีสเปรย์ลงบนโปสเตอร์ซึ่งมีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ซึ่งทำให้ชาวสวิสผู้นี้ต้องเผชิญกับการตัดสินจำคุก 75 ปี (จากความผิด 5 กระทง - LM watch)
โอลิเวอร์ จูเฟอร์ ถูกตัดสินจำคุกด้วยความผิด 5 กระทง กระทงละ 4 ปี รวม 20 ปี แต่เนื่องจากยอมรับสารภาพ จึงได้ลดโทษเหลือ 10 ปี ก่อนได้รับพระราชทานอภัยโทษและเนรเทศตัวกลับประเทศสวิสเซอร์แลนด์ในเวลาต่อมา
กรณีของโอลิเวอร์ จูเฟอร์ ได้รับความสนใจจากสื่อต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และปรากฏเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก แต่กลับแทบไม่มีสื่อมวลชนไทยนำเสนอข่าวนี้ โดยเฉพาะก่อนหน้าที่เขาจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ
รายละเอียด:
12 มีนาคม 2550
รายงานพิเศษเรื่อง Graffiti reveals Thai royal fears ของโจนาทาน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำประเทศไทย ได้เปิดเผยกรณีของโอลิเวอร์ จูเฟอร์ (Oliver Jufer) ชายชาวสวิส วัย 57 ปี ซึ่งถูกจับกุมเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2549 ที่จังหวัดเชียงหวัดเชียงใหม่ ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หลังจากเมามายและพ่นสีสเปรย์ลงบนโปสเตอร์ซึ่งมีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ซึ่งทำให้ชาวสวิสผู้นี้ต้องเผชิญกับการตัดสินจำคุก 75 ปี (จากความผิด 5 กระทง - LM watch)
รายงานดังกล่าวระบุว่า ในวันพิจารณาคดี ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่รายงานชิ้นดังกล่าว โอลิเวอร์ จูเฟอร์ เปลี่ยนคำให้การเป็นยอมรับสารภาพว่ากระทำผิดจริง หลังจากจากที่เคยพยายามปฏิเสธตอนถูกจับกุมตัว ซึ่งผู้เขียนรายงานตั้งข้อสังเกตว่า น่าจะมาจากคำแนะนำของทนาย
"...และเขาก็ถูกนำตัวออกจากศาลในสภาพช็อก สองขาของเขาถูกล่ามโซ่ในฐานะนักโทษของไทย ความหวังอันสูงสุดของเขาตอนนี้ก็คือว่า ผู้พิพากษาจะยอมผ่อนผันโทษให้ หรือไม่ก็อาจจะคำนึงถึงเหตุผลทางการเมือง และอาจมีการพูดถึงข้อตกลงเพื่อรักษาหน้าของแต่ละฝ่าย และส่งตัวเขาออกนอกประเทศไป หาไม่แล้ว ทนายความของโอลิเวอร์กล่าวว่า เขาจะต้องโทษจำคุกต่ำสุดประมาณ 7 ปีครึ่ง..." (คัดจากฉบับแปลโดยประชาไท)
รายงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่า คดีของโอลิเวอร์ จูเฟอร์ ไม่ใช่สิ่งที่เจ้าหน้าที่ของไทยต้องการถกเถียงหรืออภิปรายใดๆ โดยในช่วงที่จับกุมตัว ทางการได้กีดกันไม่ให้หนังสือพิมพ์ไทยฉบับใดรายงานข่าวดังกล่าว และมีเพียงฉบับเดียวเท่านั้นที่ได้รายงานข่าวนี้
ในวันพิจารณาคดี เจ้าหน้าที่ศาลได้เข้มงวดกวดขันเป็นพิเศษ มีท่าทีไม่ต้องการให้นักข่าวร่วมฟังการพิจารณาคดี และจัดให้อยู่ในพื้นที่จำกัด ต่อมา พนักงานอัยการรายหนึ่ง ก็ได้ออกมาบอกแก่นักข่าวว่า คดีถูกเลื่อนการพิจารณาออกไป
"…“เราไม่ต้องการสื่อ” พนักงานอัยการรายนั้นกล่าว “เราไม่ต้องการให้คนไทยรู้เรื่องนี้ ถ้าพวกพวกเขารู้ว่าคดีนี้เกี่ยวพันถึงในหลวง คงไม่มีผลดีใดๆ ตามมา”14 มีนาคม 2550
นั่นคือคำโกหก คดีไม่ได้เลื่อนการพิจารณา พนักงานอัยการรายนั้นคงหวังว่าการพูดเช่นนั้นจะทำให้พวกเราแยกย้ายกันไป..." (คัดจากฉบับแปลโดยประชาไท)
เวบไซต์ประชาไท ได้แปลและเผยแพร่รายงานพิเศษเรื่อง Graffiti reveals Thai royal fears ของโจนาทาน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำประเทศไทย
28 มีนาคม 2550
โอลิเวอร์ จูเฟอร์ ถูกตัดสินจำคุกด้วยความผิด 5 กระทง กระทงละ 4 ปี รวม 20 ปี แต่เนื่องจากยอมรับสารภาพ จึงได้ลดโทษเหลือกึ่งหนึ่ง คือ 10 ปี
ในวันดังกล่าว ไม่มีสื่อในประเทศไทยรายงานข่าวนี้
29 มีนาคม 2550
สื่อมวลชนไทยสำนักเดียวที่รายงานข่าวคำตัดสินคดีโอลิเวอร์ จูเฟอร์ คือเวบไซต์ประชาไท
ประชาไทระบุว่า ชายชาวสวิสผู้นี้เป็นชาวต่างชาติคนแรกที่ถูกตัดสินจำคุกจากข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ รวมทั้งนำเสนอข้อมูลจากผู้สื่อข่าวต่างชาติที่รายงานว่าโอลิเวอร์ จูเฟอร์มีโอกาสยื่นอุทธรณ์ต่อศาลภายในเวลา 1 เดือน แต่ดูเหมือนจะรอการพระราชทานอภัยโทษหรือการถูกเนรเทศกลับประเทศมากกว่า
ในท้ายข่าว ประชาไทได้ตั้งข้อสังเกตถึงการละเว้นข่าวนี้ของสื่อมวลไทย ทั้งที่คดีดังกล่าวอยู่ในความสนใจของสื่อต่างประเทศจำนวนมาก
"...แม้คดีดังกล่าวจะได้รับความสนใจจากผู้สื่อข่าวต่างประเทศเป็นจำนวนมาก อาทิ สำนักข่าวบีบีซี, เอพี, เอเอฟพี, รอยเตอร์ และซีเอ็นเอ็น แต่ไม่มีสื่อไทยรายงานข่าวนี้ หรือสื่อที่มีรายงานเกี่ยวกับคดีดังกล่าวก็เป็นสื่อภาษาอังกฤษ เช่น The Nation เท่านั้น
สื่อต่างประเทศหลายแห่งที่รายงานความคืบหน้าในคดีของนายโอลิเวอร์ จูเฟอร์ ได้กล่าวถึงกฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทยว่าเป็นกฏหมายที่เข้มงวดทารุณ และไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น แต่ประชาชนไทยไม่มีปฏิกิริยาต่อเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด..."
วันเดียวกัน ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวของ the Nation หนังสือพิม์ภาษาอังกฤษของไทย ได้เขียนบทความเป็นภาษาอังกฤษ ลงในวารสารข่าว Dateline สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) เนื้อหาของบทความคือให้ข้อมูลและวิเคราะห์การพยายาม "เซ็นเซอร์" ตัวเองของสื่อมวลชนไทยต่อข่าวหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ผ่านกรณีโอลิเวอร์ จูเฟอร์
12 เมษายน 2550
เวบไซต์ประชาไท ได้รายงานข้อมูลที่แปลจากข่าวในวันเดียวกันของสำนักข่าว Al Jazeera และ AFP ว่า โอลิเวอร์ จูเฟอร์ (Oliver Jufer) ได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้วเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2550 และเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังเตรียมเนรเทศตัวออกนอกประเทศ โดยระบุว่า เป็นไปตามที่หลายฝ่ายได้วิเคราะห์ว่าคดีจะต้องออกมาในรูปนี้ คือได้รับอภัยโทษและถูกเนรเทศออกนอกประเทศ เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่นักท่องเที่ยว ชาวต่างชาติ รายต่อไป
ตามรายงานของประชาไท สำนักข่าว Al Jazeera ซึ่งเสนอข่าวชื่นชมราชวงศ์ไทยมาโดยตลอดและต่อเนื่อง ยังได้กล่าวถึงกรณีโอลิเวอร์ จูเฟอร์ ว่า กฎหมายเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมีความเก่าแก่เกินไป รวมถึงการพยายามไม่ให้กรณีเช่นนี้เป็นข่าวในสังคมไทย
23 เมษายน 2550
ประวิตร โรจนพฤกษ์ แปลบทความที่เขียนลงวารสาร Dateline มาเผยแพร่ในคอลัมน์ Silence of the Lam ที่เวบไซต์ประชาไท ในชื่อ "การเซ็นเซอร์ข่าวหมิ่นพระมหากษัตริย์ในสื่อไทย (ข้อสังเกตกรณีคดีฝรั่งสวิส)" โดยเพิ่มเติม "ปล." ที่ให้ข้อมูลและแสดงความเห็น เกี่ยวกับการปรากฏและไม่ปรากฏข่าวโอลิเวอร์ จูเฟอร์ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ก่อนถูกเนรเทศกลับบ้านเกิด
"…ในวันที่ 13 เมษายน หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เนชั่นและมติชนได้รายงานว่า นายจูเฟอร์ ไดรับพระราชทานอภัยโทษ แต่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ กรุงเทพธุรกิจ โพสต์ทูเดย์ ก็ยังไม่ยอมรายงานข่าวเหมือนกับว่าเหตุการณ์นี้ไม่เคยเกิดขึ้น
ที่น่าสนใจคือว่าในขณะที่หนังสือพิมพ์ เดอะเนชั่น รายงานหน้าหนึ่งว่า นายจูเฟอร์ถูก “เนรเทศ” (deport) หลังจากได้รับพระราชทานอภัยโทษ ทางบางกอกโพสต์กลับใช้คำว่านายจูเฟอร์จะ “กลับ” (leave) ประเทศสวิสเซอร์แลนด์หลังถูกปล่อยตัว
ไม่มีสื่อไหนแม้กระทั่งประชาไท ซึ่งลงข่าวนี้ ที่ตั้งคำถามว่า “อภัยโทษ” ไปด้วยกันได้กับการ “เนรเทศ” หรือไม่…"
ข้อมูลส่วนตัว
โอลิเวอร์ จูเฟอร์ (Oliver Jufer) เป็นชายชาวสวิส แต่งงานกับภรรยาซึ่งเป็นคนไทย และอาศัยอยู่ในประเทศไทยมากว่า 10 ปี
ขณะถูกดำเนินคดี โอลิเวอร์ จูเฟอร์ มีอายุ 57 ปี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น